ในขณะที่หลายๆสถาบัน และบริษัทกำลังเร่งค้นคว้าและวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ในหลายๆประเทศได้เริ่มทดลองใช้วัคซีนเหล่านี้กับประชาชนทั่วไปแล้ว แล้ววัคซีนคืออะไร มีผลอย่างไรกับร่างกายของเรา ทำไมจึงมีผู้ที่แพ้วัคซีน เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้
วัคซีน (Vaccine)
วัคซีน คือสารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าไปสู่ร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ เมื่อฉีดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ที่เรียกรวมกันว่าแอนติเจน (Antigen) เข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยอันดับแรกร่างกายจะหลั่งอินเทอร์เฟียรอน (Interferon) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดนหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อกระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง จากนั้นจะกำจัดเชื้อโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ พร้อมกับจดจำลักษณะของแอนติเจนชนิดนี้ เพื่อสามารถสร้างแอนติบอดีให้เข้ากำจัดเชื้อได้อย่างรวดเร็วในครั้งต่อไปที่มีแอนติเจนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย การฉีดวัคซีนจึงเป็นเหมือนการเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคและสร้างแอนติบอดีที่สามารถรับมือกับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ทันท่วงที
จุดเริ่มต้นของวัคซีน
วัคซีนเริ่มมีการพัฒนาในราวคริสต์ทศวรรษ 1770 โดยเอดเวิร์ด เจนเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการสกัดเชื้อ cowpox เพื่อป้องกันโรคฝีดาษ (small pox) ในมนุษย์ได้ วัคซีนในระยะเริ่มแรกเป็นการนำเชื้อมาทำให้ตายหรือการใช้เชื้อที่อ่อนฤทธิ์เท่านั้น จนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีรีคอมบีแนนต์มาช่วยในการพัฒนาโดยอาศัยความรู้ทางชีววิทยาระดับโมเลกุล และมีความพยายามพัฒนาวัคซีนโดยการสังเคราะห์แอนติเจนในการผลิตซับยูนิตวัคซีน (subunit vaccine) อีกด้วย
ประเภทของวัคซีน
1. วัคซีนเชื้อเป็น (Live, attenuated vaccine)
เป็นวัคซีนชนิดที่เชื้อจุลินทรีย์ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกทำให้อ่อนแอลง จึงไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ วัคซีนชนิดนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้แอนติบอดีมีการตอบสนอง และสร้างภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตแค่เพียงฉีดวัคซีนนี้ 1-2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งวัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
วัคซีนไข้ทรพิษ (smallpox)
วัคซีนโรคหัด (Measles)/หัดเยอรมัน (rubella), วัคซีนโรคคางทูม (mumps)
วัคซีนโรคอีสุกอีใส (chickenpox)
2. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated/killed vaccine)
เป็นวัคซีนที่เชื้อจุลินทรีย์ถูกทำให้ตายหรือไม่มีปฏิกิริยาโดยวิธีต่างๆ เช่น ให้ความร้อนสูง ผ่านรังสี หรือใช้วิธีทางเคมี แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่ตายแล้ว การออกฤทธิ์ของวัคซีนประเภทนี้จึงมีระยะเวลาที่สั้น แต่ก็สามารถฉีดกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้ วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
วัคซีนโปลิโอ (Polio)
วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A)
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
3. วัคซีนประเภททอกซอยด์ (Toxoid)
เป็นวัคซีนที่ผลิตจากพิษของจุลินทรีย์ โดยการนำมาทำให้ความเป็นพิษหมดไปแต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคได้ วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
วัคซีนคอตีบ (Diphtheria)
วัคซีนบาดทะยัก (tetanus)
4. วัคซีนประเภทหน่วยย่อย/เชื่อมผนึก (Subunit/conjugate vaccine)
เป็นวัคซีนที่ผลิตจากส่วนหนึ่งของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่
วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยการฉีด (Influenza)
วัคซีนเฮโมฟิลุสอินฟลูเอนซาชนิดบี (Haemophilus influenzae type b (Hib))
ทำไมต้องฉีดวัคซีน
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า วัคซีนเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม บาดทะยัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ววัคซีน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกวัย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปัจจัยดังกล่าว คือ เพศ อายุและอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องรับวัคซีนเฉพาะเช่น แพทย์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่รักษาหรือดูแลคนป่วย จำเป็นต้องได้รับวัคซีนหลายชนิด เพื่อป้องกันไม่ให้เอาโรคเหล่านี้ไปติดคนไข้ และส่งผลต่อการรักษาคนไข้นั้นๆได้